โครงสร้างของผิว ผิวหนังมีส่วนประกอบ 3 ชั้นคือ
ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ประกอบด้วยเซลล์ผิวสองชนิด คือKeratinocytes ทำหน้าที่ปกป้องร่างกายจากสิ่งแวดล้อม ช่วยกันความร้อน จุลินทรีย์และสารเคมีต่างๆไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย และMelanocytes ทำหน้าที่ผลิตเม็ดสีเมลานิน ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ทำให้ผิวเรามีสีเข้ม ปกป้องผิวจากแสงอาทิตย์ได้ระดับหนึ่ง
· ชั้นหนังแท้ (Dermis) ทำหน้าที่รองรับเส้นเลือด เส้นขน ประกอบด้วย คอลลาเจน (Collagen) เป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวเต่งตึง อิลาสติน (Elastin)เป็นสารที่ให้ความยืดหยุ่นแก่ผิว และในชั้นหนังแท้นี้ยังมี เส้นเลือดฝอย เส้นประสาท รากขน ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันด้วย และ Hyaluronic acid ซึ่งเป็นของเหลวที่กระจายทั่วไปในชั้นผิว ช่วยในการกักเก็บความชุ่มชื้นและเพิ่มความต้านทานต่อการเสียดสี
· ชั้นใต้หนังแท้ (Hypodermis) เป็นชั้นที่มีไขมันสะสมอยู่ในรูปเนื้อเยื่อไขมัน ทำหน้าที่ป้องกันแรงกระทบจากภายนอก ปกป้องอวัยวะภายใน
รังสี UV และผลกระทบที่เกิดกับผิว
แสงอาทิตย์ที่ส่องมายังโลกมีคลื่นแสงที่เป็นอันตรายต่อผิว นั้นคือรังสี UV ซึ่งจะกระตุ้นเมลาโนไซท์ ให้เกิดการผลิตเมลานินมากขึ้น ส่งให้ผลให้เกิดผิวหมองคล้ำผิดไปจากเดิม
· รังสี UVA มีความยาวคลื่นอยู่ในช่วง 320-400 nm เป็นรังสีที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูง สามารถก่ออันตรายให้กับผิวหนังชั้นกลาง ซึ่งเป็นที่อยู่ของคอลลาเจนและอิลาสตินได้ มีส่วนทำให้ผิวแก่ก่อนวัย และยังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง
· รังสี UVB มีความยาวคลื่นในช่วง 290-320 nm เป็นรังสีที่พบในช่วงเวลา 10 โมงเช้าถึงบ่าย 2 โมง ซึ่งเป็นช่วงที่แสงอาทิตย์ส่องสว่างมากที่สุด มีผลกระทบต่อเนื้อเยื่อผิวชั้นหนังกำพร้า ทำให้ผิวเกิดรอยไหม้
การสร้างสีผิว
กระบวนการการสร้างสีผิว จะเกิดขึ้นในชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น สีผิวที่ผิดไปจากเดิมเป็นผลเนื่องมาจากสารที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) เมลานินมีผลต่อสีผิว ถ้ามีมากจะทำให้สีผิวเข้มขึ้น หรือถ้ามีอัตราการผลิตเมลานินมากกว่าปกติ ทำให้สีผิวบริเวณนั้นจะเข้มกว่าปกติ เรียกว่า กระ ฝ้า การก่อตัวของ เมลานินเกิดขึ้นใน เมลาโนไซท์ (Melanocytes) ซึ่งเกี่ยวพันกับปฏิกิริยาลูกโซ่ที่ซับซ้อน เรียกว่าปฏิกิริยาออกซิเดชัน สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการนี้คือ การทำงานของเอนไซม์ ไทโรซีเนส (Tyrosinase) ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่เรียกว่า ไทโรซีน(Tyrosine) ไปเป็นโดปา (Dopa) และก่อให้เกิด การสร้างเมลานินในที่สุด ดังนั้นเคล็ดลับสู่ผิวขาวนวลใสก็คือ การปกป้องผิวจากแสงแดดและการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีเนส นั่นเอง
ความหย่อนคล้อยของผิว
ผิวหนังของเรานั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ผิวของทารกนั้นจะมีชั้นไขมัน (Subcutis) ที่หนา แต่มีชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่บาง การที่ผิวของเด็กทารกเรียบเนียนและอ่อนนุ่มนั้นก็เนื่องมาจากผิวของทารกมีสัดส่วนของ Hyaluronic acid ที่สูง ซึ่ง Hyaluronic acid นั้นเป็นสารประกอบที่มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำไว้ได้มากถึง 1000 เท่าของน้ำหนักสาร นอกจากนั้นผิวของทารกยังสามารถสร้างเซลล์ผิวขึ้นมาใหม่ได้ในเวลาเพียงไม่เกิน 14 วัน แต่ในผู้สูงอายุวัย 50 ปีนั้นจะต้องใช้เวลาในการสร้างเซลล์ผิวใหม่ไม่น้อยกว่า 37 วัน
สำหรับคอลลาเจนและElastin ในชั้น Dermis นั้น ก็มีการลดลงตามกาลเวลาเช่นกัน การลดลงของคอลลาเจนจะทำให้ผิวบางและอ่อนแอลง อันเป็นสาเหตุให้ผลหย่อนคล้อย และสูญเสียความยืดหยุ่นไปด้วย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการสลายตัวของคอลลาเจนคือ อนุมูลอิสระที่เกิดจากแสงแดด มลพิษต่างๆ บุหรี่ สารปนเปื้อนในอาหารที่รับประทานเข้าไป และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน รวมทั้งอายุที่เพิ่มขึ้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น